Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การฝึกให้ลูกเรียนรู้ เข้าใจ และจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง

Posted By Plook TCAS | 17 ต.ค. 66
580 Views

  Favorite

            อารมณ์เป็นเรื่องของความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน ผู้ที่เป็นเจ้าของอารมณ์โดยเฉพาะลูกน้อยวัยประถมของเราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ เข้าใจ และจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง ที่อาจพลิ้วไหวไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ลูกเราเติบโตเร็วมากทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และความนึกคิด อยากรู้อยากเห็น อยากเล่น อยากลอง อยากเรียนรู้ทั้งจากที่บ้านและที่โรงเรียน ทั้งจากครอบครัวและจากเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนหรือจากเพื่อนเล่นแถวบ้าน ลูกได้รับทั้งความสนุก ความสุข ความรัก ความพอใจ ความไม่พอใจ ความโกรธ ความเครียด ความเกลียด ความอยากได้ และความไม่อยากได้ ฯลฯ หลากหลายอารมณ์เกิดขึ้นกับลูกน้อยได้ในสถานการณ์ที่แตกต่างและกับบุคคลต่าง ๆ ที่เข้ามาอยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ

            หากลูกเรามีการพัฒนาทักษะทางอารมณ์ที่ดี ลูกจะสามารถปรับตัวและเติบโตได้อย่างเป็นปรกติสุข และอยู่รอดปลอดภัยได้ท่ามกลางสังคมที่เจริญเติบโต และมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด พ่อแม่ผู้ปกครองจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการฝึกลูกให้เรียนรู้ เข้าใจ และจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง ซึ่งทำได้ไม่ยาก โดยอาศัยความรักและการดูแลใกล้ชิด ซึ่งเป็นต้นทุนเดิมของเราที่มีให้ลูกอยู่แล้ว นั่นคือ

 

ใส่ใจในรายละเอียดความเป็นตัวตนของลูกน้อย

            เนื่องจากลูกยังเป็นเด็กน้อย อาจยังบอกเล่าถึงความรู้สึกและอารมณ์ของตนเองได้ไม่ชัดเจนนัก แต่เราสามารถรู้ได้จากการสังเกตอากัปกิริยา สีหน้า แววตา และการแสดงออกของลูก ทั้งในยามที่ลูกเผลอตัวและรู้ตัว สอนลูกให้รู้จักแสดงความรู้สึกทั้งแบบที่พอใจและแบบที่ไม่พอใจอย่างเหมาะสม รู้จักการพูดจาที่อ่อนโยน มีสัมมาคารวะ ไม่ระคายหูคนฟัง แต่มีพลังในการขอร้องสิ่งที่ต้องการ ซึ่งเป็นการฝึกลูกให้รู้จักวิธีคิดก่อนพูดเพื่อให้สัมฤทธิ์ผล และเราเองต้องรับฟังและรับรู้ถึงอารมณ์และความรู้สึกของลูก ทำให้ลูกเห็นว่าเราเข้าใจและพร้อมเป็นเพื่อนลูก ให้โอกาสลูกได้ระบายความคิดและความรู้สึก หากสิ่งใดไม่ถูกต้อง เราก็ให้คำแนะนำและวิธีการแก้ไขปัญหากับลูก ซึ่งจะช่วยให้ลูกมีพัฒนาทักษะทางอารมณ์ และส่งเสริมทักษะการแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น

 

สร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านการเล่นเกม

            การเล่นเกมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สามารถช่วยลูกให้เรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง เราต้องสอนลูกให้เรียนรู้ว่า ในการทำงานทุกอย่างไม่ใช่ว่าจะเป็นไปได้ดั่งใจเราคิด ข้อขัดข้องต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สบอารมณ์ ลูกจึงต้องใช้สติปัญญาควบคุมอารมณ์ แล้วเล่นเกมใหม่หรือทำกิจกรรมนั้น ๆ ใหม่ โดยใช้ข้อผิดพลาดเดิมเป็นบทเรียน เพื่อมาถอดรหัสบทเรียนใหม่ เป็นการฝึกทักษะในการแก้ไขปัญหา การเลือกตัดสินใจ และการควบคุมอารมณ์ในการจัดการกับสถานการณ์ต่าง ๆ

เกมพัฒนาอารมณ์ที่เราควรเลือกมาให้ลูกได้เรียนรู้มีหลายอย่าง เช่น เกมเล่นตามบทบาท ซึ่งสร้างสภาวะที่สร้างสรรค์และสนุกสนานไปตามบทบาทของตัวละครที่ลูกเลือกเป็น แล้วออกเดินทางเพื่อทำภารกิจต่าง ๆ เกมปริศนาช่วยให้ลูกพัฒนาทักษะในการคิดและการวางแผนงาน ทดลองและแก้ไขเมื่อมีข้อผิดพลาด สร้างความอดทนและการรู้จักรอคอย เกมวาดภาพ ช่วยให้ลูกสร้างจินตนาการแสนบรรเจิด ฯลฯ

 

ฝึกลูกสร้างทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น

            การทำงานร่วมกับผู้อื่น เช่นให้ลูกเข้าร่วมกิจกรรมที่ชมรมเด็กจัดขึ้น จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องการรับฟังความคิดที่ต่างกันหรือเหมือนกัน การเอาใจเขามาใส่ใจเรา การปรับอารมณ์ การแบ่งปัน และการทำงานเป็นทีม เราควรให้โอกาสลูกได้เล่นอย่างอิสระร่วมกับเพื่อน ๆ แถวบ้านบ้าง หลังเลิกเรียนหรือในวันหยุด นอกเหนือจากการที่ได้เล่นกับเพื่อนนักเรียนที่โรงเรียนแล้ว เช่น ขี่จักรยาน เล่นฟุตบอล กระโดดเชือก เพื่อให้ลูกได้รับความสนุกและความสุขจากการออกกำลังกาย ได้ปลดปล่อยอารมณ์กับการพักผ่อนและเล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกันตามความต้องการ

 

เป็นกระจกเงาสะท้อนแสงสว่างให้ลูก

            สอนลูกทำดีด้วยการทำดีให้ลูกดู พ่อแม่ผู้ปกครองเปรียบเสมือนกระจกเงาของลูก เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเติบโตและพัฒนาของลูก เป็นต้นแบบให้ลูกได้เรียนรู้และทำตาม การแสดงออกถึงความรักและความเข้าใจของเราต่อลูก จะทำให้ลูกเกิดความมั่นคงในจิตใจ และส่งผลให้ลูกมีความพร้อมที่จะกล้าก้าวออกไปสู่สังคมภายนอก ที่อาจก่อให้เกิดความหลากหลายทางอารมณ์ และเมื่อลูกเห็นพ่อแม่และคนในครอบครัวสามารถจัดการกับอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีสติ ก็จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ ยอมรับ รู้เท่าทัน ปรับอารมณ์ และหาทางออกได้ แบบอย่างดี ๆ ที่ลูกได้เห็นจะทำให้ลูกค่อย ๆ พัฒนาหาทางออกเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก สุขภาพทางจิตใจของลูกจะแข็งแกร่งขึ้น

 

ฝึกลูกให้เป็นผู้ที่มีจิตใจสงบร่มเย็น

            ความสงบร่มเย็นในจิตใจจะช่วยให้ลูกรู้จักกับภาวะฉลาดคิดฉลาดทำ และควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น ซึ่งเราทำได้ง่าย ๆ เช่น การใช้เวลากับลูกเพื่อสร้างบรรยากาศแสนอบอุ่นด้วยกัน เป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจของลูก สอนลูกให้เรียนรู้การฝึกความเข้มแข็งและความสงบทางจิตใจ ด้วยการใช้เทคนิคการหายใจเข้าออกแบบถูกวิธี เป็นการทำสมาธิแบบง่าย ๆ เหมาะกับวัยของลูก หรือให้ลูกอ่านหนังสือการ์ตูนธรรมะสนุก ๆ แล้วเล่าให้สมาชิกในครอบครัวฟัง เราก็ถือโอกาสสอนธรรมะลูกเพิ่มเติมไปด้วย

การฝึกให้ลูกเรียนรู้ เข้าใจ และจัดการกับอารมณ์ของตัวเองเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ความรัก ความอ่อนโยน และความเอาใจใส่ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะได้อย่างเต็มที่ เราจึงต้องอดทนและรอคอย  และเมื่อลูกทำได้แล้ว กำลังใจสูงส่งจากเราที่ควรค่าแก่ลูกคือ การกอดลูกไว้ในอ้อมแขนอบอุ่น แล้วหอมกันให้ชื่นหัวใจ

 

ณัณท์

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow